เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จากความไม่สงบภายในสหรัฐ และสถานการณ์โควิดของไทยที่ดีขึ้นตามลำดับ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรตเงินตราประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 31.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 31.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะความไม่สงบภายในประเทศจากกระแสความไม่พอใจในกรณีที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ช่วงต้นสัปดาห์ก่อนหน้า อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นายจอร์จ ฟลอยด์ ในกว่า 20 เมืองทั่วประเทศและได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นเหตุจลาจล มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เผารถยนต์ ปล้นร้านค้า ตลอดจนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โดยล่าสุดนายเจย์ อินสลีย์ ผู้ว่าการรัฐวิชิงตันได้ประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงได้รวมตัวกันใกล้ทำเนียบขาว เช่นเดียวกับในอีกหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งทางการท้องถิ่นได้สั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในยามวิกาล โดยในหลายรัฐยังได้มีกาสรเรียกร้องให้หน่วย National Guard เข้ามาช่วยควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในสหรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 43.1 ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 43.0 จากระดับ 41.5 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี อย่างไรก็ดีดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นเดียวกับรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่าการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 2.9% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือนซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 โดยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างอาจดิ่งลงได้ถึง 6.5% ขณะที่เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% ในเดือนเมษายน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อใช้แก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ด้วยคะแนน 274 เสียง และงดออกเสียง 207 เสียง พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ประชุมเห็นด้วย 275 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 205 เสียง สำหรับพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ประชุมเห็นด้วย 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง
ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้วบประมาณในพระราชกำหนดเงินกู้นั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ขณะที่การเคลื่อนไหวของพรรคแกนนำรัฐบาลวานนี้ (1/6) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค พร้อมแนบรายชื่อกรรมการบริหารพรรคแจ้งลาออกจำนวน 18 คน จากจำนวนทั้งหมด 34 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป อันเป็นเหตุให้จำนวนกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยนายไพบูลย์ระบุว่า ได้ทำหนังสือฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อขอให้รักษาการหัวหน้าพรรคได้เรียกประชุมรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคโดยเร็ว เพื่อเร่งกำหนดจัดวันประชุมใหญ่สามัญ และให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 45 วันนับจากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของพรรค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.50-31.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 1.1132/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 1.1113/15 ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าต่อเนื่องจากการร่วงลงของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการดำเนินแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยนักวิเคราะห์คาดว่ารายละเอียดของแผนดังกล่าวจะมีการเปิดเผยในการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ (4/6)
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจ มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนีซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 36.6 ในเดือนพฤษภาคมจากระดับ 34.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 36.8 เช่นเดียวกับของยูโรโซนซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 39.4 จาก 33.4 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ระดับ 39.5 อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50.0 เป็นการบ่งชี้ว่าภาพรวมของภาคการผลิตในภูมิภาคยังประสบกับภาวะชะลอตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1113-1.1184 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1177/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 107.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 107.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.49-107.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานประจำเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ ในวันศุกร์ (5/6)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.50/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
"ในระหว่าง" - Google News
June 02, 2020 at 06:44PM
https://ift.tt/2XOOfjU
เงินบาทแข็งค่า จากความไม่สงบในสหรัฐ-สถานการณ์โควิดของไทยที่ดีขึ้น - ประชาชาติธุรกิจ
"ในระหว่าง" - Google News
https://ift.tt/36HoaHq
Home To Blog
No comments:
Post a Comment