สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 สร้างสถิติใหม่ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้ จนเกิดเหตุ "สภาล่ม" ครั้งที่ 3 ในรอบ 8 เดือน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (8 ก.ค.) เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 09.30 น. ก่อนต้องยุติลงในอีก 4 ชม. ต่อมา ในระหว่างพิจารณาวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ (เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562) เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานสภาทุก 3 เดือน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ อีกทั้งยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัด ตามกฎหมาย หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงว่า เหตุที่เกิดความล่าช้า เพราะข้อมูลค่อนข้างมาก โดยต้องรวบรวมจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ จากนั้นจึงนำเสนอต่อ ครม. ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณารับทราบรายงานการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การรับรองรายงานฉบับนี้อาจขัดต่อมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ จึงเห็นควรให้ถอนวาระออกไปก่อน
ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พท. ระบุว่า หากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมถอนร่างรายงานฉบับนี้ ก็ขอให้สั่งนับองค์ประชุม ซึ่งขณะนั้น ส.ส. รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ขณะที่ฝ่ายค้านก็เดินออกจากห้องประชุม (วอล์คเอาท์) หรืออยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมเสียบบัตรแสดงตนเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุม
ภายหลังใช้เวลาราว 15 นาทีในการรวบรวมเสียง ส.ส. รัฐบาล นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้แจ้งสมาชิกที่ไม่ร่วมแสดงตน ให้นั่งประจำที่ อย่ายืนเกะกะ
สุดท้ายนับองค์ประชุมได้ที่ 231 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา หรือ 244 จากสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 487 คน ทำให้สภาไม่สามารถประชุมต่อไปได้ สุดท้ายประธานต้องสั่งปิดการประชุมในเวลา 13.07 น. โดยถือเป็นเหตุสภาล่มครั้งแรกของสมัยประชุมนี้
เกือบทันทีทันใด บรรดา ส.ส.ฝ่ายค้านได้ออกมาตำหนิรัฐบาลผ่านกระดานข้อความของตัวเองในสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า "ธรรมเนียมสภา เราถือว่าองค์ประชุมเป็นของรัฐบาลในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ปัญหาคือหลายครั้งที่อภิปราย ส.ส. รัฐบาลไม่มาประชุม ถ้าอยู่กรรมาธิการอันนี้ให้อภัยได้ แต่ถ้าไปทำเรื่องอื่นนอกสภา อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เสียดายภาษีประชาชน"
เช่นเดียวกับ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า "ขอนับองค์ประชุมใหม่ เนื่องจากห้องโล่งมาก โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ผลปรากฏว่าขาดงานกันหลายคนเลย ปรากฏไม่ครบองค์ประชุมค่าาาา ปิดประชุม"
ปัจจุบันรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาที่ 275 ต่อ 212 เสียง จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 ราย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุ "สภาล่ม" ขึ้นกับสภาล่างชุดที่ 25 เพราะเมื่อปีก่อน เคยเกิดเหตุสภาล่ม 2 วันซ้อน ในระหว่างการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2562 หลังรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา ก่อนที่ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) จะแก้เกมกลับด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ สร้างความไม่พอใจให้กับ ส.ส. ฝ่ายค้าน จึงพร้อมใจกันวอล์กเอาท์
ธนาธรไม่สนเสียงวิจารณ์ปมนั่ง กมธ.งบ
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท นัดแรกที่อาคารรัฐสภาวันนี้ (8 ก.ค.) มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และผู้นำคณะก้าวหน้า เข้าร่วมด้วย หลังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม
ทว่านายธนาธรไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น โดยบอกว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของคนที่ไม่พอใจ ส่วนตัวไม่ได้ใส่ใจ ขอทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะมั่นใจว่าการเข้ามาทำหน้าที่ กมธ. ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ส่วนข้อหาจากการยุบพรรค อนค. ก็เป็นเพียงการเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งและสมัครสมาชิกพรรคเท่านั้น ไม่ได้ตัดสิทธิความเป็นพลเมืองในการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ แสดงความคิดเห็นทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
นายธนาธรยังแสดงความกังวลใจต่อการจัดทำงบประมาณปี 2564 ของรัฐบาล ซึ่งไม่มีความแตกต่างจากการจัดทำงบปี 2563 ทั้งที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจถดถอย แต่กลับไม่ใช้โอกาสนี้จัดทำงบประมาณเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และย้ำว่าพร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่
สำหรับนายธนาธรเคยเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน ซึ่งในเวลานั้น เขาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในระหว่างรอการวินิจฉัยคดีถือครองหุ้นบริษัทสื่อ กระทั่ง 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายธนาธรพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. ก่อนที่อดีตหัวหน้า อนค. จะลาออกจากตำแหน่ง กมธ.งบประมาณฯ ในอีก 9 วันต่อมา โดยให้เหตุผลว่า "ในเมื่อพวกเขาไม่อยากให้ผมทำงานในสภา ผมก็จะออกไปอยู่กับประชาชน" แต่แล้วเขาก็กลับเข้าสภาอีกครั้งในฐานะ กมธ.
"ในระหว่าง" - Google News
July 08, 2020 at 03:15PM
https://ift.tt/2BOe7W9
ประชุมสภา : สภาล่มครั้งที่ 3 ในรอบ 8 เดือน - บีบีซีไทย
"ในระหว่าง" - Google News
https://ift.tt/36HoaHq
Home To Blog
No comments:
Post a Comment