Pages

Monday, July 13, 2020

123 ปี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารมักใหญ่ใฝ่สูงหรือผู้นำมากวิสัยทัศน์ - บีบีซีไทย

kokselama.blogspot.com
  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

"ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ " คำอภิปรายของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ. 2483 เมื่อ 15 ส.ค. 2483 เป็นอมตะวาจาที่อาจนับได้ว่าร่วมสมัยกับปัจจุบันอย่างยิ่ง

นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการทหารในระดับจอมพล และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ รวม 2 ช่วง 15 ปี กล่าวไว้ในช่วงที่เขาเป็นนายกฯ สมัยแรกและอยู่ระหว่างขับเคลื่อนการสร้างชาติตามสไตล์นายทหารผู้นำชาตินิยม

ข้อถกเถียงในความเป็น "ขาว" และ "ดำ" ของจอมพลแปลกมีอยู่หลายเรื่อง แม้ปรากฏตัวบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะสมาชิกคณะราษฎร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากมักจะมีภาพของจอมพลผู้นี้ใน "เชิงลบ" เป็นเผด็จการ ทหารนิยม ผลิตนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไร้เหตุผลอย่างการบังคับให้ประชาชนเลิกกินหมาก ใส่หมวก ในยุคสร้างชาติ

ทว่าจากงานศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ได้เผยให้เห็นมิติที่ลึกขึ้นของการสร้างชาติในสมัยนั้นที่นับเนื่องเป็นแผนการสร้างชาติไทยของคณะราษฎร และปรากฏชัดในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

"การศึกษาที่ผ่านมาที่มองยุคสมัยจอมพล ป.เป็นนายกฯ นั้น มีลักษณะเป็นความคลั่งชาติ มันเป็นการมองด้านเดียว เพราะจริง ๆ แล้วนโยบายการสร้างชาติสมัยจอมพล ป. มีอยู่หลายมิติ" ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวกับบีบีซีไทย

แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎรกับ "เจแปนโมเดล"

หากเอ่ยถึงการสร้างชาติ รัฐนิยม ความทรงจำของคนทั่วไปน่าจะนึกถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นอันดับแรก ส่วนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์หลัง 2475 ก็มีเพียงกรณีของ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี พนมยงค์ เท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้

แต่ภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรโดยปีกทหาร คือ จอมพล ป. นำกำลังปราบปรามฝ่ายอนุรักษ์นิยม เหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มิ.ย.2476 และกบฏบวรเดช ต.ค. 2476 ทำให้การเมืองหลังจากนั้นมีเสถียรภาพมากขึ้น ผศ.ดร.ณัฐพลบอกว่า "เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพแล้ว พวกเขา (คณะราษฎร) ก็เดินหน้าสร้างชาติ"

ในหนังสือ "ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร" ของ ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ เริ่มเกิดกระแสชื่นชมในความก้าวหน้าของญี่ปุ่น สามัญชน ปัญญาชน และนักปฏิวัติ มองญี่ปุ่นในฐานะผู้นำใหม่ในเอเชีย และต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวหน้าโดยมีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ

ตามรอยอาทิตย์อุทัยฯ / ณัฐพล ใจจริง

หลายคนในกลุ่มนี้เป็นสมาชิกคณะ ร.ศ.130 ที่ล้มเหลวในการทำรัฐประหารมื่อปี 2455 แต่ได้มาร่วมสนับสนุนคณะราษฎรในการปฏิวัติ 2475 และได้เป็น ส.ส.ชุดแรก กลุ่มผู้นำใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งนิยมญี่ปุ่น ได้ขึ้นมามีบทบาทในการเสนอความคิดในการพัฒนาประเทศให้กับคณะราษฎร

ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ให้เห็นเหตุผลที่เวลานั้นกลุ่มผู้นำใหม่เลือกญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มก้าวขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เอาชนะกองกำลังของคนผิวขาวรัสเซีย อีกทั้งแนวทางการพัฒนาของระบอบเก่าที่ปล่อยให้พ่อค้าตะวันตก พ่อค้าชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยค่อนข้างมาก "ทำให้คนไทยเป็นเพียงชาวนา เกษตรกร และข้าราชการเป็นหลัก ดูเหมือนว่าเราเป็นเบี้ยล่างตลอดเวลา"

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนวิถีการมองเรื่องการพัฒนาใหม่

"ญี่ปุ่นเป็นตัวแบบที่เป็นกึ่งกลางระหว่างประเทศพัฒนาแล้วอย่างตะวันตก กับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาก่อน แต่ว่าพัฒนาประเทศเข้าใกล้ประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยที่สำคัญก็คือสามารถรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้ จากบันทึกของคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นหลายครั้งบอกว่า แม้ว่าออกมาทำงานนอกบ้านแต่งสูท แต่พอกลับไปบ้านก็แต่งชุดแบบญี่ปุ่น สิ่งนี้ทำให้ผู้นำชาตินิยมอย่างคณะราษฎร รู้สึกว่าทำไมญี่ปุ่นทำได้ สามารถรักษาทั้งสองสิ่งไว้ได้ เจริญแบบตะวันตก แต่ตัวตนยังเป็นแบบเรา นี่คือสิ่งที่ผู้นำชาตินิยมแบบคณะราษฎรคิด"

งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ได้บันทึกไว้ด้วยว่าในปี 2477 คณะราษฎรได้เดินทางไปดูงานที่ 4 เมืองใหญ่ในญี่ปุ่น เป็นการศึกษาดูงานในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมหลายสิบแห่ง รวมทั้งกิจการเชิงพาณิชย์ กิจการหนังสือพิมพ์ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ พิพิธภัณฑ์ ในระยะต่อมาไทยและญี่ปุ่นก็ขยายความร่วมมือไปทางด้านการทหาร มีการนำเข้าวิทยาการเรือดำน้ำ การเดินเรือพาณิชย์นาวี การต่อเครื่องบิน และส่งนักเรียนทางการทหารไทยไปศึกษาวิชาการทหารที่ญี่ปุ่นหลายชุด

จอมพล ป.หน้าปกนิตยสารญี่ปุ่น ในวันครบรอบเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย เมื่อปี 2484

คลั่งชาติ ทหารนิยม รัฐนิยมอันน่าขบขัน ?

ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่าการพัฒนาประเทศสมัยคณะราษฎร เริ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (2476-2481) ต่อมาปรากฏในฐานะนโยบาย "สร้างชาติ" ในรัฐบาลจอมพล ป. อันมีสาระสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างชาติทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติทางการทหาร แต่ส่วนใหญ่การสร้างชาติตอนนั้น มักถูกมองเฉพาะเรื่องการทหารและวัฒนธรรม ส่วนวัฒนธรรมก็จะมองในเชิงการบังคับ เช่น ให้ใส่หมวกหรือห้ามกินหมาก

นักวิชาการประวัติศาสตร์อธิบายความหมายที่ยึดโยงระหว่างการสร้าง "ชาติ" และ "ประชาชน" ซึ่งต้องมี "วิถีชีวิตใหม่" ที่ถูกกำหนดตามรัฐนิยมว่า เพราะชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในทัศนะของจอมพล ป. และ "ชาติคือประชาชน"

หนังสือไทยสมัยสร้างชาติ พิมพ์ใน พ.ศ.2484 ที่ระลึกงานฉลองวันชาติ

มรดกการสร้างชาติทางวัฒนธรรมและการศึกษายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการศึกษาของ ผศ.ดร.ณัฐพล ได้แก่

  • การกินอาหาร ร่างกายของพลเมืองที่แข็งแรงจะทำให้ชาติเข้มแข็ง "การกินอาหารก่อนหน้านี้ คนไทยบอกเสมอว่าอย่ากินกับเยอะ เพราะจะเป็นตานขโมย ดังนั้น คนไทยก็จะตัวเล็ก ประเทศชาติจะเข้มแข็ง ประชากรจะเข้มแข็งได้อย่างไร เวลาไปรบ เราต้องตัวใหญ่ เราต้องกินข้าวที่ดี ต้องกินอาหารที่โปรตีนเยอะ ดังนั้น จอมพล ป. ได้ส่งเสริมการกินอาหารแบบใหม่ กินข้าวน้อย ๆ กินกับเยอะ ๆ ให้กินเนื้อสัตว์ ให้เพิ่มโปรตีน ไม่มีเนื้อสัตว์ ถ้าเนื้อสัตว์ เนื้อหมู โคแพง ให้กินไก่ ถ้าไก่แพง ให้กินไข่ ถ้าไข่ยังแพง ให้กินถั่วเหลือง หรือเต้าหู้แทน นี่คือการส่งเสริมให้เกิดร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง"
  • มุ่งมั่นทำงาน "วิถีเดิมของคนไทยเป็นคนขาดความกระตือรือร้น จึงส่งเสริมให้คนขยันทำงาน มีคำขวัญมากมายให้ส่งเสริมการทำงาน รวมทั้งการปรับไปสู่การมีระเบียบวินัย การรู้จักการอยู่ร่วมกันทางสังคม เช่น การแต่งกายเมื่อออกจากเคหะสถาน"
  • กิจกรรมการสร้างชาติ คำว่า "ชาติ" ในความหมายใหม่ หมายถึง ผลรวมของคนทั้งหมดมารวมกัน ประชาชนได้ฟังอาจเข้าใจได้ยาก ดังนั้น ต้องมีกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ เช่น การสร้างเพลงชาติ ทำให้คนเข้าใจว่าชาติคืออะไร รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการรักชาติ เช่น การสร้างคำขวัญ
  • มรดกทางการศึกษา ส่งเสริมให้สตรีเข้าศึกษามากขึ้น ส่งเสริมการสร้างโรงเรียนไปยังชนบท คือ ร.ร. ประชาบาล ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ โรงเรียนอนุบาลรัฐบาลแห่งแรกของไทย (2482) อันมีต้นแบบจากการที่รัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยนั้นศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

"กอุพากรรม" สร้างชาติด้านเศรษฐกิจ

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนที่ไทยมากขึ้น มีทั้งร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารโยโกฮามา ธนาคารมิตซุย สะท้อนการเปลี่ยนผ่านว่าญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาแทนที่จักรวรรดิอังกฤษ และอังกฤษก็เริ่มถอยออกไป ญี่ปุ่นจึงเข้ามาแทนเรื่องการเงิน การค้า อุตสาหกรรม ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลคณะราษฎรได้ส่งบุคลากรตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีจนถึงข้าราชการไปศึกษาจากต้นแบบ

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญในสมัยของ จอมพล ป. ซึ่งต่อเนื่องมาจากยุคพระยาพหลฯ คือ สิ่งที่เรียกว่า "กอุพากรรม"

ตามรอยอาทิตย์อุทัยฯ / ณัฐพล ใจจริง

ผศ.ดร.ณัฐพลบรรยายว่า กอุพากรรมเป็นคำย่อมาจากการส่งเสริมด้านกสิกรรม คือ ส่งเสริมให้คนปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่สอง คือ ส่งเสริมอุตสาหกรรม สุดท้าย "พากรรม" ก็คือ พาณิชยกรรม ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยจอมพล ป. คือส่งเสริม 3 ด้าน คือ การเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งสัมพันธ์ต่อกัน

"ผลิตแล้วต้องขาย ผลิตแล้วส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมผลิตแล้ว ก็ต้องส่งออกขาย นี่คือสามขาสำคัญ"

ตามรอยอาทิตย์อุทัยฯ / ณัฐพล ใจจริง

ยุคสมัยของจอมพล ป. ยังเกิดกลไกของระบบราชการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่ากลไกเหล่านี้เป็น "ตัวแบบ" ที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกชื่อแบบใหม่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลแบบอเมริกัน

"นี่คือกลไกของรัฐที่จะผลักดันเป้าหมาย แค่ยุคนั้นไม่ได้เรียกแผนพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้นเอง แต่ว่ามีกลไกระดับล่าง มีนโยบาย มีระบบราชการ"

ตามรอยอาทิตย์อุทัยฯ / ณัฐพล ใจจริง

จอมพล ป.-ปรีดี มิตรหรือศัตรู

"มิตรหรือศัตรู ผมรับบางส่วนก็คือมิตร แต่ศัตรูผมขอเปลี่ยนเป็นคู่แข่งทางการเมือง"

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 2475 มองความสัมพันธ์ในฐานะ "มิตร" ของ จอมพล ป. และปรีดี ว่าเริ่มจากการรู้จักกันในฝรั่งเศสขณะเรียน ก่อนร่วมก่อตั้งคณะราษฎรในกรุงปารีส มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

เป็นมิตรในฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ร่วมมือกันสร้างหลัก 6 ประการให้เกิดขึ้นหลังปฏิวัติ เป็นมิตรในฐานะที่จอมพล ป. นำกำลังกองทัพรัฐประหารโค่นล้มพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อให้ปรีดีคืนสู่การเมือง และเป็นผู้คุมกำลังในการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับคณะราษฎรในปี 2476

ตามรอยอาทิตย์อุทัยฯ / ณัฐพล ใจจริง

ส่วนความเป็นคู่แข่งทางการเมือง ผศ.ดร. ณัฐพลอธิบายว่า ตอนที่พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ ทั้งสองคนเป็นทั้งมือซ้ายและมือขวา เขามองว่าพระยาพหลฯ ยังไม่ฝากความหวังไว้ให้กับใครคนใด เนื่องจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติยังคงใช้กำลังทหารในความพยายามยื้ออำนาจกลับ

"พอพระองค์เจ้าบวรเดชเลือกใช้กองทัพ รัฐบาลคณะราษฎรต้องหนุนใครระหว่างสองปีก ก็หนุนจอมพล ป. เพราะว่าต้องยกกองทัพไปสู้ เมื่อความขัดแย้งจบสิ้นลง ใครชัดเจน กองทัพก็คือจอมพล ป. เป็นผู้นำ สามารถปราบปรามกบฏบวรเดชลงได้ สถานะจอมพล ป. ก็สูงเด่น สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกฯ ดังนั้น ในด้านหนึ่งก็คือการที่จอมพล ป. ขึ้นมามีบทบาทก็เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลือกใช้วิธีการรุนแรงก็ต้องใช้กำลังปราบปรามกลับไป กลุ่มทหารปีกนี้ก็ขึ้นมา"

ความแตกต่างของทั้งคู่เริ่มตั้งแต่อุดมการณ์ทางการเมือง จอมพล ป. มีลักษณะเป็นชาตินิยม ปรีดีเป็นสังคมนิยม แต่ทั้งสองคนมีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ของชาติ ความต่างที่กลายเป็นความขัดแย้งของทั้งคู่ก่อนในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 จอมพล ป. ขึ้นเป็นผู้นำ ส่งผลให้คณะราษฎรแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างฝ่ายทหารที่นิยมฝ่ายอักษะ กับฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรก่อนพัฒนาเป็นขบวนการเสรีไทยที่นำโดยปรีดี

"ทั้งสองฝ่ายมีคำตอบอยู่ในใจว่าจะประคับประคองประเทศอย่างไร ท่ามกลางสงคราม" ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว "อาจจะโชคดีอยู่เหมือนกันที่เรามีผู้นำที่มีทั้งสองมิติในจังหวะที่เหมาะสม คนหนึ่งปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้ อยากไปก็ไป พอสงครามเริ่มเปลี่ยน อีกคนหนึ่งบอกว่าไม่เอาแล้ว หาทางคุยกับตะวันตกดีกว่าว่าเราจะรอดอย่างไร"

จากนักปฏิวัติสู่นักปฏิรูปก่อนตกเวทีอำนาจ

ช่วงชีวิตทางการเมืองของจอมพล ป. ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนลงสู่อำนาจในช่วงแรกตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการนิยามจาก ผศ.ดร.ณัฐพลว่าคือ "นักปฏิวัติ" และมีชีวิตที่สองทางการเมืองในช่วง 2491-2500 ในฐานะ "นักประนีประนอม-นักปฏิรูป" อันเป็นช่วงที่แยกทางเดินกับปรีดี มิตรร่วมก่อการปฏิวัติในคณะราษฎร ก่อนยื้อยุดอำนาจกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมในบริบทการเมืองที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานอำนาจของคณะราษฎรแล้ว มีแต่ทหารกลุ่มใหม่กลุ่มจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กลุ่มหลวงกาจสงคราม เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์

"อำนาจของจอมพล ป. จึงวางอยู่บนการรักษาสมดุลของกลุ่มทหารต่างๆ ตัวเองไม่มีอำนาจอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ต้องคอยดุลอำนาจระหว่างคนเหล่านี้"

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ

สถานะ "นักประนีประนอม-นักปฏิรูป" สะท้อนผ่านการการเกิดรัฐธรรมนูญ 2492 ในระหว่างที่เขาเป็นนายกฯ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" ถวายพระราชอำนาจที่สำคัญหลายกรณี เช่น การมีองคมนตรีแทนอภิรัฐมนตรี กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเลือก แต่งตั้ง และให้พ้นจากตำแหน่ง ให้ ส.ว. มาจากการเลือกและแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ทว่าผศ.ดร.ณัฐพลชี้ว่าในเวลาต่อมา "จอมพล ป. เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่น่าจะนำไปสู่เจตนารมณ์ของการปฏิวัติ (2475) สุดท้ายแล้วก็กลับมาเป็นนักปฏิวัติอีก ก็คือ การรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ในปี 2494"

จอมพล ป. ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อปี 2500 ภายหลังเผชิญกับฝ่ายอนุรักษ์ที่เริ่มกลับมาเข้มแข็ง และการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจของกองทัพและตำรวจ อันเกิดท่ามกลางบริบทโลกที่สหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ท่ามกลางการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลกรวมทั้งไทย ขณะที่จอมพล ป. พยายามเปิดสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในทางลับ

"เริ่มต้นจากนักปฏิวัติ ทดลองเป็นนักปฏิรูป แล้วกลับมาเป็นนักปฏิวัติ พอพิบูลฯ จะเริ่มคิดแบบนั้นอเมริกาไม่เอาด้วยแล้ว เพราะอเมริกาต่อต้านคอมมิวนิสต์ อเมริกาต้องการส่งเสริมจารีตประเพณีบางอย่างให้คนไทยหวงแหน ถ้าเสียอันนี้ไปประเทศไทยจะแย่แแน่ ซึ่งอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการเป็นนักปฏิวัติของจอมพล ป. แล้ว"

เมื่อถูกปฏิวัติจอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 7 ปี ต่อมา ณ ที่พำนักในกรุงโตเกียว

line

จอมพล ป.พิบูลสงคราม 2440-2507

2470 ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร

2475 ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง

2476 ผู้นำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม, ผู้บังคับกองผสมปราบกบฏบวรเดช

2481-2487 นายกรัฐมนตรี ช่วงที่หนึ่ง ขณะมีอายุ 41 ปี หลังจากพระยาพหลฯ ปฏิเสธรับตำแหน่ง

2482 เริ่มนโยบายสร้างชาติด้วยการประกาศใช้ "รัฐนิยม" ฉบับแรก

2484 รัฐบาลญี่ปุ่นบุกไทย จอมพล.ป.ประกาศยุติการต่อสู้และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทย

2487 ลาออกจากนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์ เมืองหลวงแห่งใหม่ไม่ผ่านสภา

2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จอมพล ป.ตกเป็นอาชญากรสงคราม

2491-2500 นายกรัฐมนตรี ช่วงที่สอง

2494 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารตัวเอง ตั้งจอมพล ป.เป็นนายกฯ ต่อ

2498 ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา ให้กำเนิดการ "ไฮปาร์ค" ในที่สาธารณะ และการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแบบใหม่ที่เรียกว่า "เปรส คอนเฟอเรนซ์"

2500 ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนลี้ภัยการเมืองไปญี่ปุ่น

2507 ถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่นขณะอายุ 67 ปี

Let's block ads! (Why?)



"ในระหว่าง" - Google News
July 14, 2020 at 09:07AM
https://ift.tt/3esL7R9

123 ปี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารมักใหญ่ใฝ่สูงหรือผู้นำมากวิสัยทัศน์ - บีบีซีไทย
"ในระหว่าง" - Google News
https://ift.tt/36HoaHq
Home To Blog

No comments:

Post a Comment