นักศึกษาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (FreeYOUTH) เตรียมกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 1 ส.ค. นี้ แม้ระบุว่า "ยังไม่ใช่การชุมนุมใหญ่" หลังครบกำหนด 2 สัปดาห์ที่พวกเขายื่น 3 ข้อเรียกร้องถึง "ผู้มีอำนาจ" แต่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมการเมืองประเมินว่าความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อชนชั้นนำโดยตรง และสุดท้ายอาจต้องเจรจาเพื่อจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่
18 ก.ค. ถือเป็นจุดเริ่มต้นภาคต่อของ "แฟลชม็อบ" ก่อนเกิดการชุมนุมย่อยและการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ตามมาอีกอย่างน้อย 20 จุดภายในเวลาสัปดาห์เศษ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งในพื้นที่สาธารณะและตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
สิ่งที่สังคมเห็นคือ "สำนึกทางการเมือง" ของนักศึกษา แต่ภาพที่ยังไม่ปรากฏแน่ชัดคือศูนย์กลางของขบวนการเคลื่อนไหว ฉีกขนบการชุมนุมทางการเมืองแบบในอดีต
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมการเมืองที่รู้จักในชื่อ "บก. ลายจุด" ให้ความเห็นว่าศูนย์กลางการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ แม้มีอิทธิพลต่อการเกิดแฟลชม็อบแบบดาวกระจายขึ้น แต่ไม่เป็นอิทธิพลต่อการสั่งการ ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนกลุ่มนี้
"ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าพอมีคนเปิดก็มีคนตาม ภาพที่เราเห็นตอนนี้คือดาวกระจายแบบตามกันไปโดยอิสระ... ผมว่ารัฐบาลประยุทธ์ยังเอาไม่อยู่นะ นอกจากเอาไม่อยู่ ยังประเมินไม่ถูกเลย แม้แต่ผมเองยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่มาก ต้องรอดูอีกระยะหนึ่งเลย" นักกิจกรรมการเมืองวัย 52 ปีกล่าวกับบีบีซีไทย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.พ. นักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ออกมาชุมนุม "ทวงคืนความยุติธรรม" ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก่อนพัฒนาเป็นสารพัดข้อเรียกร้องซึ่งสะท้อนความกังวลใจต่อการฝากอนาคตของพวกเขาไว้ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทว่าทุกความเคลื่อนไหวที่ปรากฏต้องถูกเก็บ-กดไว้ชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
4 เดือนผ่านไป เยาวชนกลับมาอีกครั้ง ทว่าไม่ใช่ภายในรั้วโรงเรียน/มหาวิทยาลัย บางส่วนใช้ท้องถนนเป็นพื้นที่ประกาศความคิด
นักเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรัฐประหารรุ่นพี่จากปี 2549 ถึง 2557 อย่างนายสมบัติระบุว่า "การรักษาแนวร่วม" คือข้อพึงระวังเมื่อก้าวออกนอกมหาวิทยาลัย ต้องพิจารณาผลกระทบของการเคลื่อนไหวแล้วไม่ไปทำลายแนวร่วม เพราะนอกจากจะไม่ได้คนมาเพิ่มแล้ว ยังต้องเผชิญกับแรงต้าน และอาจปวดหัวหนักหากรัฐได้พลังแนวร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวไป
แปรพลังออนไลน์สู่ออฟไลน์
แม้ผ่านประสบการณ์จัดการชุมนุมและเปิดปฏิบัติการป่วนประสาทรัฐไทยมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ บก.ลายจุด ยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจกับ "แฟลชม็อบ" เพราะเป็นการแปรพลังจากโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์อย่างแท้จริง จากเคยเห็นแฮชแท็กที่มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นที่มีขนาดเพียงพอจะปั่นให้มันขึ้นสู่ 5 อันดับยอดนิยมในทวิตเตอร์ได้
- เป็นการปรากฏตัวของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ก้าวออกจากจอคอมพิวเตอร์-วางโทรศัพท์มือถือลง แล้วมาร่วมชุมนุม
- เลิกพิมพ์ข้อความบนจอ แต่เขียนมันลงกระดาษเอสี่
- กล้าปรากฏหน้า-แสดงตัวตนแท้จริง จากเคยเป็นอวตาร หรือ "แอคหลุม" อยู่ในทวิตภพ
"ต้องเข้าใจวิวัฒนาการในทวิตเตอร์ที่เด็ก ๆ ใช้กันเพราะเขาเบื่อสถานะตัวเองในเฟซบุ๊กที่มีพ่อแม่ มีผู้ใหญ่ชอบมาตาม มาวุ่นวายกับชีวิตเขา ไม่มีความเป็นส่วนตัว เขาจึงหนีจากรูปแบบเครือข่ายเฟซบุ๊กเข้าไปในทวิตเตอร์ เขาจึงไม่ใช้หน้าจริง และใช้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยความคิดจินตนาการของเขา แล้วมันก็โตมา ถึงจุดหนึ่งจากความเป็นอวตารมาเล่นอยู่ในออฟไลน์ ผมคิดว่านี่เป็นภาพที่น่าประทับใจและน่าสนใจว่าเขาสามารถออกมาจากคอมพิวเตอร์ได้" นายสมบัติ ผู้มีบุตรสาวในวัยไล่เลี่ยกับ "แฟลชม็อบ" กล่าว
"ฟันน้ำนม" VS "ฟันปลอม"
หาก "ทีวีจอสี" คืออาวุธสำคัญในการสื่อสารความคิดของแกนนำ "ม็อบเหลือง-แดง-นกหวีด" ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไลฟ์และแฮชแท็กก็เป็น "อาวุธใหม่" ของเครือข่ายนักศึกษาที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม-กระตุ้นอารมณ์ร่วมได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ตัวไม่ได้อยู่ในสถานที่ชุมนุมก็ "ม็อบออนไลน์" ได้ แต่ถึงกระนั้นนายสมบัติยืนยันว่าจำนวนคนบนถนนยังมีความสำคัญ และขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะรอจนเห็นจำนวนนั้นหรือไม่
เขาคาดการณ์ว่าเมื่อกระแสสูงมาถึง คนที่ดูไลฟ์อยู่จะปิดคอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ แล้วลงถนน แต่เรื่องนี้ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
"เป็นการต่อสู้ที่เขาเรียกกันว่า 'ฟันน้ำนมกับฟันปลอม' กลุ่มฟันปลอมอย่างไรก็ต้องซัดกลุ่มฟันน้ำนมแน่นอน แต่มันจะมีคนอีกกลุ่มที่ไม่เป็นทั้งฟันปลอมและฟันน้ำนม คนพวกนี้รอดูท่าทีว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร ใครก็แล้วแต่ที่ได้คนตรงกลางไปมากที่สุดหรือได้ไปทั้งหมด ก็จะเกิดภาวการณ์หน่วงเหนี่ยวคู่ต่อสู้ ถ้ารัฐไม่มีการสนับสนุนจากประชาชนก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ดังนั้นต้องไม่ลืมว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีแค่คู่ต่อสู้ หรือพวกเราเท่านั้น" นายสมบัติกล่าว
สอดคล้องกับมุมมองของ ศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เห็นว่าความเคลื่อนไหวบนท้องถนนของนิสิตนักศึกษาพุ่งเป้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ทว่าบางส่วนอาจยัง "รอดู" ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างจริงจัง เพราะไม่มั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร และจะนำไปสู่อะไร
สร้าง "ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง" แทน "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย"
ข้อเสนอของนักวิชาการรายนี้ต่อเครือข่ายนักศึกษาคือต้อง "สร้างกระบวนการความเปลี่ยนแปลง" เพราะจะทำให้ "นิ่ง แน่วแน่ รอบคอบ และยืดหยุ่นขึ้น" พร้อมแสดงความกังวลว่าหากไม่มองเป็นกระบวนการแล้วผลักดันทั้งหมดลงไป ผลอาจไม่เป็นดังคาด เช่น กรณี "อาหรับสปริง" ที่ตื่นเต้นกันทั้งโลกเพราะเป็น "ภาพใหม่" เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศตูนีเซียในปี 2553 ได้เกิดพฤติกรรมลอกเลียน-ลุกลามไปหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง สุดท้ายก็เกิดความจลาจลวุ่นวาย แล้วกลับมาเกิด "อาหรับสปริงรอบ 2" ในปี 2562
"อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องชนะในเร็ววัน หรือคิดว่าต้องยกระดับหากภายใน 2 สัปดาห์ ไม่ได้รับคำตอบ เพราะการต่อสู้ไม่เคยมีคำว่าครั้งสุดท้ายวันสุดท้าย แต่เป็นกระบวนการที่ต้องทำกันยาว ๆ" ศ.ดร. อรรถจักร์กล่าว
เขาชี้ชวนให้นักเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นเยาว์นึกถึง "ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง" เพราะการยุบสภาตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาอาจไม่เกิดขึ้นใน 3-6 เดือนนี้ เนื่องจากมีอำนาจอีกมากคอยค้ำยันรัฐบาลอยู่ สุดท้ายการทำให้คนทั่วไปที่ยังลังเลต่อความเปลี่ยนแปลงเห็นว่า "ตัวเหนี่ยวรั้งสังคมไทยคือรัฐบาล" และ "รัฐธรรมนูญคือปัญหาขวางกั้น" ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาก็จะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ได้
ติง "วีรชนเอกชน" อาจทำขบวนการเสียหาย
หลังเฝ้าสังเกตการณ์ปฏิบัติการการเมืองบนท้องถนนของเครือข่ายนักศึกษาที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ศ.ดร. อรรถจักร์ พบความเสี่ยงบางประการจาก "อารมณ์ที่พุ่งพล่าน" ของแกนนำและแนวร่วมบางส่วน จึงแนะให้ประเมินแต่ละจังหวะเดินเล็ก ๆ ในก้าวใหญ่ คาดการณ์ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น และอย่าขับเคลื่อนด้วย "ความห้าว" หรือความปรารถนาดีกับแรงของคนหนุ่มสาวเท่านั้น
"ในขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 2516 ตอนอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น) ขึ้นเวที จะมีหน่วยหนึ่งประจำบนตึกโดมคอยส่งข่าวตลอดเวลา คือต้องรอบคอบหนักเลย" นักวิชาการผู้เติบโตมาในยุค "ขบวนการนักศึกษาเบ่งบาน" ย้อนความหลัง
หากความฝัน-ความหวังของผู้ชุมนุมคือการ "สร้างสังคมที่ดีขึ้น" ภายใต้อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่แท้จริง กระบวนการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคมการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในทัศนะของอาจารย์อรรถจักร์ ดังนั้นนอกจาก "แกนนำ" ยังต้องมี "แกนนอน" ที่ตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงใหญ่ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำของคน ๆ เดียว
"หวังว่าเครือข่ายที่นักศึกษาจะสร้างขึ้นจะช่วยลดแรงผลักของ 'วีรชนเอกชน' ลดแรงผลักของการอยากได้ซีน (ชิงความเด่นดัง) ของปัจเจกชนลง.. จริงอยู่ที่วีรชนเอกชนมีความหมาย แต่ในประวัติศาสตร์ วีรชนเอกชนจำนวนมากได้เสียสละไปอย่างไร้ค่า หรือกระทั่งทำให้ขบวนการต้องเสียหาย" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ระบุ
ขณะที่นายสมบัติใช้เวลาครู่หนึ่งในการจินตนาการผลกระทบหาก "วีรชนเอกชน" ปรากฏกายขึ้นกลาง "ม็อบนักศึกษา" แล้วนำเสนอเนื้อหา "หมิ่นเหม่" ชนิดที่ผู้นำการชุมนุมไม่อาจควบคุม ด้านหนึ่งอาจทำให้คนกังวลแล้วไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม หรือทำให้ขบวนดูอันตรายเกินไป ขณะที่อีกด้านอาจเกิดความเคยชิน เพราะผู้ชุมนุมมาเป็นพัน แต่มีคนแบบนี้โผล่มา 1-2 คน
"ถ้าแนวร่วมกว้างพอ ความผิดพลาดเล็กน้อยหรือจุดอ่อนเล็กน้อยไม่สามารถทำให้ขบวนใหญ่คว่ำได้ แต่ถ้าแนวร่วมยังแคบยังเล็กอยู่ การพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้ไปต่อไม่ได้" นายสมบัติ อดีต "แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง" กล่าว
"ภาษาม็อบยุค 4.0" สะท้อนช่องว่างระหว่างรุ่น
ส่วน "ภาษาม็อบยุค 4.0" ที่คนต่างวัยติติงว่ารุนแรง ก้าวร้าว สุดโต่งนั้น ทั้งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมการเมืองเห็นตรงกันว่าเป็นภาษาปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นนี้ และสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่อยู่นอกกรอบคิดแบบเดิม ไม่ยอมรับค่านิยมเดิมเรื่องลำดับชั้นทางสังคมและการสยบยอมต่ออำนาจ
นายสมบัติยกตัวอย่างคำว่า "สาด" หรือ "สัส" ถ้าคุยในหมู่เพื่อนฝูง คำพูดนี้ไม่มีความรู้สึกหยาบเลย แต่แน่นอนว่าคนรุ่นก่อนไม่มีคำนี้ "มันถูกลดทอนความหยาบลงมาแล้ว แต่คนที่เคยใช้คำว่า 'สัตว์' ก็จะรู้สึกว่าคำนี้เท่ากับคำนั้น แต่จริง ๆ มันไม่เท่ากับคำนั้นนะ ผมคิดว่ามันมีแก็ป (ช่องว่าง) ของรุ่นอยู่ และยากที่เด็กจะไปตามอธิบายกับผู้ใหญ่" เหมือนเรื่องพื้นฐานอย่างกรณีเด็กนักเรียนหญิงไม่อยากไว้ผมสั้นทรงเหนือติ่งหู ที่ถูกผู้ใหญ่ด่าว่าอยากมีครอบครัวแล้วหรือ
ขณะที่ ศ.ดร. อรรถจักร์กล่าวว่า ขบวนการนักศึกษาในยุค 14 ตุลา ก็เรียกขาน "3 ทรราช" - จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร - ด้วยคำนำหน้าชื่อไม่ต่างจากที่ปรากฏในปัจจุบัน เพียงแต่ครั้งนั้นคนทั้งสังคมตกผลึกร่วมกันแล้วว่าให้ขับไล่ 3 นายทหารนี้ออกไป ส่วนครั้งนี้เข้าใจว่านักศึกษาพยายามแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาต่อ "สิ่งที่เขาเกลียดชัง" แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือสถานการณ์ในวันนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับบนเปลี่ยนไปมาก โจทย์จึงอยู่ที่การทำให้สังคมเห็นว่า "ม็อบไม่ล้ำเส้น แม้ใจล้ำเส้นก็ตาม" เพื่อเรียกพลังสนับสนุนจากคนที่ยังไม่กล้าแสดงออก
ทางเลือกของชนชั้นนำ ปรับตัว หรือ แซะขบวนการ นศ.
นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องชนชั้นนำ และเป็นผู้เขียนหนังสือ "การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2475" ยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาระลอกนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อชนชั้นนำโดยตรง ทางเลือกของคนข้างบนจึงอยู่ระหว่างพยายามปรับตัวเพื่อรักษาสถานะความเป็นชนชั้นนำต่อไป หรือจ้องแซะและป้ายสีขบวนการนักศึกษา หากทำสำเร็จก็อาจหยุดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ได้ 1-2 ปี แต่ถ้าวันหนึ่งแซะไม่ติดแล้ว ก็อาจมีการตัดสินใจ "ล้างมวลชน ก่อนล้างคนของตัวเอง"
"ถ้าเหตุการณ์เดินไปถึงจุดที่มีการล้อมปราบนักศึกษา ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาคน หรือหาใครมาเล่นบท 'ผู้ปกป้องประชาธิปไตย' เนื่องจากเครือข่ายชนชั้นนำยุคปัจจุบันได้ผูกพันกันอย่างแน่นหนา" ศ.ดร. อรรถจักร์กล่าว
อาการสะดุ้งกับข้อความของ นศ. คือ "เพดานของเรา"
กับประเด็น "ล่อแหลม-ล่อเป้า" ที่มีให้เห็นประปรายในระหว่างการชุมนุมของนักศึกษา จนมีคำเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายอนุรักษนิยมให้ระมัดระวังการกระทำอัน "มิบังควร" ขณะที่บางส่วนก็ตั้งคำถามว่า "ก้าวหน้า" หรือ "ก้าวล่วง"
ทว่าหากใช้ผ่านสายตาของนายสมบัติเพ่งมองไปยังเครือข่ายนักศึกษา เขาเห็นว่า "เด็กเขาก็แสดงออกในสิ่งที่เขาคิด... ถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกหวั่นไหว ตกอกตกใจ หรือสะดุ้งเวลาเห็นข้อความบางข้อความ เพราะว่าจุดที่เราสะดุ้งนั้น มันไม่ใช่จุดของเด็ก มันเป็นจุดของเราเอง เป็นเพดานของเรา แต่เด็กเขาไม่เห็นเพดาน เขายังไม่มีเพดาน ส่วนพวกเราที่ผ่านชีวิตมาแล้ว เราเห็นเพดาน หรือเราเห็นเส้นที่ห้ามแตะ ห้ามเกิน เป็นเส้นตัด"
ในระหว่างเข้าร่วม "แฟลชม็อบ" ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน เด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายซึ่งเดินทางมาร่วมชุมนุมเพียงลำพัง ได้รับกระดาษเอสี่จากผู้จัดกิจกรรม ก่อนนำมาชูไว้เหนือศีรษะ ปรากฏ "ข้อความที่อาจเป็นปัญหา" บนกระดาษแผ่นนั้น
"พี่เขาให้มา หนูก็รับ ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหา มันเป็นสิ่งที่ควรพูดได้ และไม่ควรมีใครต้อง 'เป็นบ้า' เพียงเพราะเขียนข้อความอะไรลงแผ่นกระดาษหรือบนเสื้อ" นักเรียนหญิงวัย 17 ปี ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวกับบีบีซีไทย
ก่อนหน้านี้ นายทิวากร วิถีตน วัย 47 ปี ถูกควบคุมตัวนาน 13 วันภายในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ หลังจากสวมเสื้อยืดที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ขณะที่นิสิตสายวิทยาศาสตร์ ชั้นปี 2 ม.เกษตรศาสตร์ กลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์เข้าร่วม "แฟลชม็อบ" ทั้งในรอบต้นปีและรอบล่าสุด ระบุว่า พวกเขาเข้าร่วมชุมนุมด้วยพลังความโกรธแค้นต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นการสานต่อจากทวิตเตอร์ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาจริงจัง ไม่ใช่แค่คุยกันเองในทวิตภพ แต่บางส่วนยอมรับว่าไม่สบายใจที่เห็น "ข้อความสุ่มเสี่ยง" บางอัน จึงอยากให้เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าความสะใจ
หากการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะของ "ม็อบมุ้งมิ้ง" แนบชิด-ติดเพดาน ย่อมสั่งสมความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นนำ ความเคลื่อนไหวบนท้องถนนย่อมกลายเป็นสนามทดสอบความอดทนระหว่างฝ่ายนักศึกษากับฝ่ายอนุรักษนิยม
"โดยธรรมดาของทุก ๆ เรื่อง ในการเคลื่อนไหวทางสังคมมันจะมีการขยับเส้น หรือขยับเพดานให้สูงขึ้น มันอาจไม่ใช่เรื่องของการที่จะรื้อหลังคา รื้อเพดานออกไป แต่เป็นการขยับเส้นเพื่อให้มีพื้นที่ที่มันโล่งขึ้น เราสามารถที่หายใจ หรือพูดถึงสิ่งที่มันกว้างกว่าเดิมได้" นายสมบัติบอก
ส่วนความรุนแรงเชิงความคิดจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาพเมื่อไรและอย่างไรนั้น นายสมบัติ ผู้ถูกขนานนามว่า "นักปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสร้างสรรค์" เห็นว่าขณะนี้ยังเป็นการประลองกำลังกัน หรือโชว์หน้าตักกัน ดูว่าแต่ละคนมีหน้าตักเท่าไร คำถามคือรัฐมีความชอบธรรมที่จะตีเส้นที่จุดไหน ดังนั้นเชื่อว่าท้ายที่สุดจะเกิดการต่อรองและเจรจากัน เพราะถ้าเดินสุดทางก็จะเป็นเรื่องที่อีกฝ่ายรับไม่ได้ แต่ไม่ขยับเลยก็ไม่ได้ ดังนั้นคุณต้องขยับ
"ในระหว่าง" - Google News
July 29, 2020 at 11:41AM
https://ift.tt/2P4fYZV
แฟลชม็อบ : การต่อสู้ระหว่างกลุ่ม "ฟันน้ำนม" กับ "ฟันปลอม" - บีบีซีไทย
"ในระหว่าง" - Google News
https://ift.tt/36HoaHq
Home To Blog
No comments:
Post a Comment